บอร์ดทีโอทีเร่งเครื่อง 3จี เล็งประกาศขายแบบ-ซอง ธ.ค.นี้ ระบุผู้ชนะมีเพียงรายเดียวได้รับสิทธิ์วางโครงข่ายทั้งประเทศ มั่นใจเปิดบริการได้ไตรมาส 2 ปีหน้า เผยเอไอเอส-ทรูมูฟส่งบริษัทลูกขอทำเอ็มวีเอ็นโอ-โรมมิ่งแล้ว...
นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ที่ประชุมมีรายงานความคืบหน้าโครงการขยายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ตซ โดยขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล หรือ ทีโออาร์ ที่ทีโอทีจัดทำขึ้นเสร็จหมดแล้ว ทั้งนี้ สาระสำคัญใหม่ที่บรรจุลงไป คือ ให้บริษัทผู้รับเหมาเอกชน ที่สนใจจะเข้าประมูลงานวางโครงข่ายครั้งนี้ สามารถยื่นผลงานมูลค่า 500 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบในการพิจารณาด้วยได้
ทีโออาร์ต่างๆ ได้ส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบสัญญา โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะเริ่มประกาศร่างหลักเกณฑ์การประมูลได้กลางเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.จะเริ่มเปิดขายแบบการประมูลขายซองประกวดราคา และซองเทคนิค โดยคาดการณ์ว่ากลางเดือน ม.ค. 2554 จะได้ผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการ และจะลงนามเซ็นสัญญาว่าจ้างได้ในเดือน ก.พ. ต่อไป อย่างไรก็ตาม บอร์ดทีโอทีได้ลงมติว่า ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ติดตั้งโครงข่าย 3จี ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งหมายความว่า ผู้ชนะจะมีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวต่อว่า สาเหตุที่การให้สิทธิ์ผู้ชนะการประมูลเพียงบริษัทเดียวได้ทำ 3จีนี้ เพราะบอร์ดได้ลงมติว่า ระบบ 3จี มีความซับซ้อนมากกว่าการติดตั้งระบบโทรศัพท์พื้นฐาน (ฟิกซ์ไลน์) หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ดังนั้น การวางระบบเชื่อมโยงโครงข่ายจากทั่วประเทศ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมลักษณะ และแบรนด์เดียวกันทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“สรุปคือถ้าบริษัทใด หรือกิจการร่วมค้าใดก็ตามที่ชนะการประมูล 3จี ได้สิทธิ์ทำทั้งประเทศ ครั้งนี้ เราไม่ได้แบ่งเป็นโซน หรือ เฟสๆ อย่างที่เคยเปิดประมูล อาทิ บริษัท ก ชนะเขตนครหลวง บริษัท ข ชนะในเขตต่างจังหวัด” นายวรุธ กล่าว
โดยบอร์ดได้แบ่งการเปิดบริการ 3จีออกเป็น 3 เฟส เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ 3จี โดยเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากที่ลงนามเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทผู้ชนะการประมูลในเดือน ก.พ.แล้ว คาดว่าจะสามารถติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้บริการแล้วเสร็จในพื้นที่สำคัญ ซึ่งจะเปิดให้บริการเฟสที่ 1 ได้ภายในไตรมาส 2/2554 อย่างแน่นอน
ส่วนในเฟส 2 คือ กทม.ทุกพื้นที่ ปริมณฑล 4 จังหวัด และ 13 จังหวัดเศรษฐกิจ จะสามารถเปิดบริการได้ภายใน 180 วัน หลังจากที่เปิดให้บริการเฟสแรกไปแล้ว ส่วนเฟสสุดท้ายจะขยายไปยังทุกจังหวัดในประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมต่อจำนวนประชากร 80% ภายใน 4 ปี โดยทีโอทีจะพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความต้องการสูง และสามารถสร้างรายได้ โดยคาดการณ์ว่าบริการ 3จี จะให้บริการได้เต็มความสามารถในการรองรับ หรือ คาปาซิตี้ 7 ล้านเลขหมาย ภายใน 2 ปี
การหาแหล่งเงินกู้ จากวงเงินขยายโครงข่ายทีโอทีตามครม. อนุมัติ 19,980 ล้านบาทนี้ จะแบ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามทีโออาร์วงเงิน 17,440 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการหาแหล่งเงินกู้มูลค่า 15,850 ล้านบาท และที่เหลือราว 1,500 ล้านบาท จะใช้กระแสเงินสดของทีโอทีเอง ซึ่งฝ่ายบริหารได้มอบหมายให้สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสายงานบริหารการลงทุน เป็นผู้รับผิดชอบดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน มีธนาคารหลักในประเทศให้ความสนใจ 4 ราย ได้แก่ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และซิตี้แบงก์
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 สถาบันทางการเงิน ได้ส่งหนังสือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยวงเงินกู้จำนวน 4 ประเด็นด้วยกันคือ 1.ทีโอทีจะสามารถมีกระแสเงินสดตามแผนธุรกิจได้หรือไม่ 2.หลักประกันต่างๆ ทั้ง แบงก์การันตี และ ซัพพลายเออร์ เครดิต 3.การโอนสิทธิการชำระเงินกู้ และ 4.กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทีโอทีหรือไม่ โดยข้อซักถามดังกล่าว ทีโอทีจะตอบไปกลับให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ มั่นใจว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้ จะได้ตัวแทนหลักในการปล่อยกู้ และในเดือนก.พ.2554 จะลงนามเซ็นสัญญากู้เงินได้
นายวรุธ กล่าวด้วยว่า ส่วนของแผนการตลาดให้บริการ 3จี นั้น ขณะนี้มีบริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัทลูกของทรูมูฟ ได้ยื่นเสนอความจำนงขอร่วมเป็นพันธมิตรทั้งการบริการขายต่อบริการ บนโครงข่ายเสมือน หรือ เอ็มวีเอ็นโอ และขอโรมมิ่งกับทีโอที 3จีแล้ว โดยคาดการณ์ว่า การเจรจาจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งหากมีการเปิดบริการ 3จีอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าทีโอทีจะมีรายได้จากการเก็บส่วนแบ่งรายได้จากเอ็มวีเอ็นโอทั้งรายเดิมและรายใหม่ได้ปีละ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 นี้ ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 200 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ มีการโยกย้ายสลับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยสลับนายกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริการสื่อสารไร้สาย และบริการเพื่อสังคม ให้ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทน นายณัฐวัฒน์ ภาษยะวรรณ ส่วนนายณัฐวัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริการสื่อสารไร้สายและบริการ เพื่อสังคม และยังมีการโยกย้ายอีกหลายตำแหน่งด้วย
yeah nice
ตอบลบ